ไวรัสซิกา (Zika virus)
ไวรัสซิก้านั้นเป็นไวรัสซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ซิก้าไวรัสสามารถติดต่อได้จากยุงกัด
ผู้ป่วยจากไวรัสซิก้านั้นจะมีไข้ อาจจะมีผื่น ปวดตามข้อ และตาแดง โดยปกติแล้วอาการโดยรวมจะไม่รุนแรงมากและหายได้เองภายในไม่กี่วัน ผู้ป่วยอาการหนักพบได้น้อยและอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล มีรายงานการติดเชื้อไวรัสซิก้าที่ประเทศบราซิลเมื่อกลางปี 2558 การระบาดในประเทศบราซิลนั้นเชื่อว่าทำให้เกิดความผิดปกติของบุตรที่เกิดจากหญิงที่ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยืนยันทางแพทย์ยังไม่ชัดเจน
การติดต่อ
ยุงลาย เป็นพาหะสำคัญของไวรัสซิก้า ซึ่งเป็นพาหะนำโรคชนิดเดียวกับไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่และไข้เลือดออกชิคุนกุนย่า ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่ง สะอาด เช่น แหล่งน้ำในครัวเรือน มีรายงานพบว่าหญิงที่ใกล้จะคลอดบุตร สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่บุตรได้ และมีรายงานว่าเชื้อไวรัสสามารถผ่านทางน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม กลไกในการถ่ายทอดผ่านการตั้งครรภ์และน้ำนมนั้นยังไม่ชัดเจน และพบได้น้อยมาก
อาการแสดง
โดยทั่วไปพบว่าราว 1 ใน 5 ของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสซิก้านั้นจะป่วยและแสดงอาหาร ระยะฟักตัวของโรคยังไม่แน่ใจ แต่น่าจะอยู่ในช่วงเดียวกับไข้หวัดใหญ่ คือ สองสามวันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ อาการแสดงคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยจะมีไข้ มีผื่นขึ้น ปวดตามข้อ และตาแดง บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล อัตราตายพบน้อย
การรักษา
ส่วนใหญ่เป็นการดูแลตามอาการเป็นหลัก ยาต้านไวรัสหรือวัคซีนยังไม่มีในขณะนี้ เนื่องจากในประเทศนั้นตัวโรคมีความคล้ายคลึงกับไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ จึงมีข้อควรระวังเนื่องจากอาจจะแยกโรคได้ยากในช่วงต้น คือการงดใช้ยาแก้ปวดและลดไข้กลุ่ม NSAIDs เนื่องจากรบกวนการทำงานของเกร็ดเลือดและเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย
การป้องกัน
ทำได้โดยป้องกันยุงกัดเป็นหลัก หลักการป้องกันและควบคุมโรคในไทยสามารถใช้หลักการเดียวกับการป้องกันไข้เลือดออก โดยธรรมชาติของยุงลายนั้นจะชอบกัดในเวลากลางวัน การสวมเสื้อผ้ามิดชิด อยู่ในมุ้งหรือใช้มุ้งลวด สามารถลดความเสี่ยงของการโดนยุงกัดได้ สิ่งสำคัญคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งมักเป็นภาชนะที่มีน้ำขังในครัวเรือน เช่น ถ้วยชามที่มีน้ำขัง แม้แต่เศษขยะก็มีน้ำขังได้